ความดันโลหิตสูง HyperTension

 
   
   
 

      ความดันโลหิตสูง หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นจากการที่ แรงดันของกระแสเลือดที่ไหลไปตามหลอดเลือดแดง เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างการสูงกว่าปกติ

      โรคความดันโลหิตสูงในผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป คือ ผู้ที่มีระดับความดันเลือดสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ต่อเนื่อง วัดที่คลินิกหรือโรงพยาบาล การควบคุมโรคที่ดีจะสามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อน และการเสียชีวิตจากโรคด้านหัวใจและหลอดเลือดลงได้

 
     
 

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

      สาเหตุที่แท้จริงส่วนใหญ่ไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อความดันโลหิต
  1. อายุ(มักพบในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี)


  2. กรรมพันธุ์ พบประมาณ 30-40%


  3. น้ำหนักตัว เกินมาตรฐาน


  4. ความเครียด ความวิตกกังวล


  5. การเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือด


  6. โรคไต และ โรคของต่อมไร้ท่อ ต่างๆ


  7. ภาวะครรภ์เป็นพิษ


  8. โรคเส้นเลือดอักเสบ

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

      ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ นอกจากตรวจวัดความดันโลหิต จึงจะพบว่า ความดันโลหิตสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย มึนงง คลื่นไส้ ตามัว เหนื่อยง่าย และมีเลือดกำเดาออก


อันตรายจากความดันโลหิตสูง

      โดยเฉพาะถ้าค่าความดันโลหิตตัวล่างมากกว่า 130 มิลลิเมตรปรอท จะเกิดอาการแทรกซ้อนดังนี้
  1. สายตาเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว หรือ ตาบอด


  2. อาการทางสมอง หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาจชัก หรือไม่รู้สึกตัว และอาจเป็น อัมพาต ได้ง่าย


  3. หัวใจล้มเหลว


  4. ไตพิการ หรือ ไตอักเสบ เกิดอาการบวมตามตัว


  5. ในระยะยาวเพิ่มอัตราการเป็น โรคหัวใจโต เส้นเลือดหัวใจอุดตัน อัมพาต อัมพฤต ไตวาย เมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับความดันเลือดต่ำกว่า 140/90 อย่างชัดเจน

การรักษา

      แนะนำว่าผู้ป่วยทุกรายที่มีความดันเลือดสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท อย่างต่อเนื่องควรได้รับ ยาลดความดัน ร่วมไปกับการปรับ เปลี่ยนพฤติกรรม การดำเนินชีวิตที่เหมาะสม เช่น
  1. การรับประทานยา ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดรับประทานยา หรือเลิกรักษาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


  2. การควบคุมอาหาร
    • จำกัดอาหารที่มีโซเดียมสูง หรือ อาหารที่ใส่เกลือมากๆ เช่น อาหารทะเล อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารรมควัน เนยแข็ง ฯลฯ


    • คุมน้ำหนักให้พอดี จำกัดอาหารที่มีผลต่อน้ำหนักตัว ได้แก่
      • อาหารที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันเป็นส่วนประกอบ
      • ใช้น้ำมันจากพืชแทนน้ำมันจากสัตว์เพื่อลดไขมันรวมและไขมันอิ่มตัว
      • หลีกเลี่ยงอาหารทอด ใช้นึ่ง ต้ม ตุ๋นแทน
      • งดสูบบุหรี่
      • หลีกเลี่ยงคาแฟอีน และลดการดื่มแอลกอฮอล์
      • เพิ่มการรับประทานอาหารจำพวกถั่วเหลืองให้มากขึ้น และรับประทานผัก ผลไม้ แทนขนมหวาน


  3. ออกกำลังกาย โดยเริ่มจากทีละน้อย แล้วค่อยเพิ่มขึ้นจนถึง 30-40 นาทีต่อวัน ทำอย่างสม่ำเสมอ และไม่ต้องออกกำลังกายประเภทที่ต้องใช้แรงมาก เช่น ยกน้ำหนัก ชักเย่อ สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากยังไม่ควรออกกำลังกาย ควรรักษาความดันโลหิตให้ปกติ หรือ ใกล้เคียงปกติ จึงสามารถ ออกกำลังกายได้ หรือเรียนปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย


  4. ผ่อนคลายความเครียด ซึ่งกระทำได้หลายวิธี ได้แก่ การฟังธรรม นั่งสมาธิ หางานอดิเรกทำ เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ ร้องเพลง เล่นกีฬา ฯลฯ


  5. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ

 
     
  ขอขอบคุญข้อมูลจาก โรงพยาบาล พญาไท