การเสียชีวิตเฉียบพลันจากหัวใจ

 
   
   
 

         การเสียชีวิตเฉียบพลัน คือ การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ของการเกิดอาการ หรือ ได้รับบาดเจ็บ โดยทั่วไปมักเสียชีวิตภายในชั่วโมงแรก การเสียชีวิตลักษณะนี้มักเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถมาพบแพทย์ตามสถานพยาบาลต่างๆ ได้ทัน และมักเป็นการเสียชีวิตโดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อน เป็นภาวะที่มีความรุนแรงสูงมาก เนื่องจากมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมักเสียชีวิต


สาเหตุของการเสียชีวิตโดยเฉียบพลัน
         ร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตเฉียบพลัน ที่เกิดภายในชั่วโมงแรก เกิดจากสาเหตุหัวใจ และมักเป็นเนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง และเต้นเร็วผิดปกติซึ่งอาจเต้นถึง 200-300 ครั้งต่อนาที น้อยรายที่จะเกิดจากหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ การที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติมักเกิดร่วมกับ กล้ามเนื้อหัวใจตาย จากการอุดตันของหลอดเลือดแดงหัวใจ

         สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ โรคเกี่ยวกับระบบหายใจ ระบบสมองโดยเฉพาะเลือดออกในสมองเป็นต้น สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตโดยเฉียบพลัน ซึ่งมักพบในคนงานชายไทยอายุน้อย คือ โรคไหลตาย ซึ่งมักมีประวัติในครอบครัวเสียชีวิตขณะนอนหลับ พบร่วมกับการหายใจผิดปกติ ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่เคยมีอาการทางหัวใจนำมาก่อน โรคไหลตายเดิมยังไม่ทราบสาเหตุ ปัจจุบันจากการศึกษาต่างๆ พบว่า โรคไหลตายเกิดจากหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ชนิดที่เรียกว่า Ventricular Fibrillation (หัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว)


โอกาสในการเกิดการเสียชีวิต
         การเสียชีวิจเฉียบพลันในประเทศตะวันตก ส่วนใหญ่มาจากการที่ กล้ามเนื้อหัวใจตายแบบเฉียบพลัน ดังนั้นในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน กล้ามเนื้อหัวใจหนาจากความดันโลหิตสูง จะมีโอกาสเสียชีวิตเฉียบพลันเพิ่มขึ้น


         การเสียชีวิตเฉียบพลันในประเทศไทยโดยเฉพาะในคนอายุน้อย มักเกิดจากโรคไหลตาย มักมีประวัติบุคคลในครอบครัวที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อย และ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ร่วมกับการให้ยาบางชนิด สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ด้วยตรวจพิเศษบางประการ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคหัวใจที่ผู้ป่วยมีอยู่ การตรวจดังกล่าว ได้แก่ การทดสอบด้วยการออกกำลังกาย การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดขยายสัญญาณ การสวนหลอดเลือดหัวใจ ในกรณีที่มีประวัติของคนในครอบครัว และสงสัยว่ามีโอกาสเป็นโรคไหลตาย อาจตรวจพิเศษโดยใส่สายสวมหัวใจ เพื่อกระตุ้นหัวใจว่ามีโอกาสเกิดหัวใจเต้นผิดปกติหรือไม่


         คนที่มีร่างกายแข็งแรงเป็นนักกีฬา หรือ ออกกำลังกายบ่อยๆ ก็มีโอกาสเป็นได้ เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจบางราย อาจไม่มีอาการที่ชัดเจน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา อาจเกิดหัวใจเต้นผิดปกติที่รุนแรงได้ ซึ่งมักเป็นขณะแข่งขัน หรือ ซ้อม


         โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนานี้อาจมีความผิดปกติตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ในคนอายุมากก็มีโอากสเป็น โรคหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่มีอาการ หรือ อาการไม่ชัดเจน บุคคลดังกล่าวมีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น หรือเสียชีวิตเฉียบพลันเมื่อเริ่มออกกำลังกายใหม่ ดังนั้น คนที่มีแผนการจะออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ถ้าสูงอายุ หรือ มีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ อย่างร่วมอยู่ด้วยควรได้รับการตรวจจากแพทย์ก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกาย


หากพบผู้ป่วยเสียชีวิตเฉียบพลันควรทำอย่างไร
         ผู้ป่วยที่เสียชีวิตเฉียบพลันจะทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงสมองทำให้เซลล์สมองเสียโดยถาวร เรียกว่า สมองตาย (Brain Death) ถ้ารักษาไม่ทันในเวลา 4-5 นาที ผู้ป่วยที่สมองตายแล้ว ถึงแม้จะแก้ไขสาเหตุที่หัวใจได้ ผู้ป่วยอาจไม่ฟื้น ดังนั้นจึงมีความจะเป็นที่ผู้พบเห็นเหตุการณ์จะช่วยเหลือผู้ป่วยโดย ปฏิบัติการกู้ชีพ (Cardiopulmonary Resuscitation) ได้แก่ การกดนวดหัวใจ และ การเป่าปากช่วยการหายใจ การปฏิบัติการกู้ชีพนี้สามารถฝึกให้ทำได้ในคนทั่วไป เมื่อช่วยเหลือขั้นต้นแล้ว จึงติดต่อทีมแพทย์เพื่อการรักษาต่อไป


แนวทางการรักษา
         ผู้ป่วยที่เสียชีวิตเฉียบพลัน และได้รับปฏิบัติการกู้ชีพจนรอดชีวิตมาได้ มีโอกาสเกิดซ้ำได้ร้อยละ 25-30 ใน 1-2 ปีแรก ดังนั้น จึงควรได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อค้นหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุนั้น เช่น ถ้ามีโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรได้รับการรักษาด้วยการทำบัลลูน หรือ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ และควรได้รับยาป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยที่เป็นโรคไหลตาย หรือ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือไม่สามารถแก้ไขสาเหตุได้ควรได้รับการฝัง เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจแบบอัตโนมัติ


เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจแบบอัตโนมัติ
         ผู้ป่วยที่การเต้นของหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติอย่างรุนแรง การรักษาที่ได้ผลดีที่สุด คือ การช็อกด้วยไฟฟ้า อย่างไรก็ตามเครื่องช็อกไฟฟ้านั้น มักมีอยู่เฉพาะที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยที่มีอาการนอกโรงพยาบาลส่วนใหญ่ จึงไม่สามารถรับการรักษาโดยช็อกด้วยไฟฟ้าได้ ดังนั้น จึงมีผู้คิดค้น เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจชนิดฝังกับตัวผู้ป่วย เครื่องมือดังกล่าวสามารถทำงานโดยอัตโนมัติ เมื่อหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะเครื่องจะสามารถตรวจพบได้ และจะรักษาโดยการช็อกด้วยไฟฟ้าเองโดยอัตโนมัติ เครื่องดังกล่าวมีราคาแพงมาก แต่สามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยดีกว่าวิธีอื่นๆ ผู้ป่วยที่มีอัตราเสี่ยงที่จะเกิดโรคไหลตายจึงควรได้รับการฝังเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจแบบอัตโนมัติ

 
     
 

ขอขอบคุญข้อมูลจาก  www.phyathai.com