สาระน่ารู้เกี่ยวกับการปวดศีรษะ

 
   
     
 

         หากถามคนทั่วๆ ไป ว่าเคยปวดศีรษะหรือไม่ น้อยคนนักที่ตอบอย่างมั่นใจว่าไม่เคย ข้อมูลทางสถิติของ รพ. คลินิกต่างๆ ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วย พบว่าในวันหนึ่งๆ จะมีผู้ป่วยมาปรึกษา ปัญหาเรื่องปวดศีรษะค่อนข้างมาก เราควรมาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เกี่ยวกับการปวดศีรษะเพื่อช่วยให้มีความเข้าใจเรื่องโรค และการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม

         หากพิจารณาถึงส่วนประกอบหลักๆ ของสมองภายในกะโหลกศีรษะ ประกอบด้วย เนื้อสมอง โพรงน้ำในสมอง ซึ่งมีน้ำไขสันหลังไหลเวียนหลอดเลือดสมอง ทั้งหลอดเลือดแดง และ หลอดเลือดดำ เส้นประสาท และเยื่อหุ้มสมอง หากมีความผิดปกติใดๆ ก็ตาม เกิดพยาธิสภาพขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง สามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ เช่น

 
     
 
  1. ความผิดปกติในเนื้อสมอง

    เช่น เนื้องอก มะเร็ง ฝีในสมอง เหล่านี้มีลักษณะเป็นก้อนในสมอง ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดศีรษะ เริ่มต้นอาจเป็นเฉพาะซีกใดซีกหนึ่ง ต่อมาอาจลุกลามไปทั่วๆ หากก้อนเนื้อนี้ มีการขยายขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีอาการบวมรอบๆ ก้อน ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คลื่นไส้ อาเจียน มองเห็นภาพซ้อน อาจใช้เวลาเป็นหลายวันเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน หากไปกระทบสมองส่วนสำคัญ อาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด กรณีฝีในสมอง มักจะพบว่ามีไข้ร่วมด้วย

  2. ความผิดปกติของน้ำในโพรงสมอง

    เกิดจากมีการอุดกั้น หารไหลเวียนของน้ำ หรือการดูดซึมน้ำไขสันหลังผิดปกติ จะทำให้ความดันในกะโหลกสูงขึ้น หากเอกซเรย์สมองมักจะพบโพรงน้ำในสมองกว้างขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง เวลาปวดมากอาเจียน วินิจฉัยโดยการทำเอกซเรย์สมอง ร่วมกับการตรวจน้ำไขสันหลังในบางราย

  3. ความผิดปกติของระบบหลอดเลือด

    เช่น หลอดเลือดแดงแตก พวกนี้มักมีอาการปวดเฉียบพลันทันที อาจพบแขนขาอ่อนแรง ชา พูดไม่ชัด ซึมลง วินิจฉัยยืนยันจากเอกซเรย์สมอง

  4. ปวดจากมีความไวของเส้นประสาท

    หรือรากประสาท บางรายเป็นเส้นประสาท ที่มาเลี้ยงผิวหน้า หรือหนังศีรษะ ลักษณะปวดแปล๊บ เหมือนไฟช็อต เป็นพักๆ ที่ท้ายทอย หน้าผาก แก้ม เป็นๆ หายๆ วินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก กลุ่มนี้มีอันตรายน้อย รับประทานยา ติดตามรักษามักจะดีขึ้น

  5. ความผิดปกติของเยื่อหุ้มสมอง

    ส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อ ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอาการปวดเด่นที่ท้ายทอย มีไข้ วินิจฉัยจากการตรวจน้ำไขสันหลังเป็นหลัก

 
     
 

         ทั้งหมดนี้ เป็นกลุ่มปวดศีรษะที่มีพยาธิสภาพของระบบประสาทส่วนใดส่วนหนึ่งผิดปกติ อาการมักจะรุนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

         ส่วนกลุ่มที่พบบ่อย ลักษณะเป็นๆ หายๆ เวลาหาย เหมือนปกติ ได้แก่ กลุ่มปวดแบบกล้าเนื้อเกร็งตัว และไมแกรน ซึ่งถ้าปฏิบัติตัวเหมาะสม ปรับพฤติกรรม รับประทายยาถูกต้อง มักทำให้ความถี่ลดลง ไม่รบกวนชีวิตประจำวัน ทำให้การเรียน การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น...



 
 

กลุ่มปวดศีรษะที่พบบ่อย

         อาการปวดศีรษะ เป็นปัญหาที่พบบ่อย พบได้ทุกเพศ ทุกวัย รบกวนชีวิตประจำวัน บั่นทอนประสิทธิภาพการเรียน การทำงาน เกิดได้จากหลายสาเหตุ เราควรมาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม

         อาการปวดศีรษะลักษณะที่พบบ่อยที่สุดคือ ปวดแบบกล้ามเนื้อเกร็งตัวรอบๆ กะโหลกศีรษะ มีกล้ามเนื้อหลายมัดเกาะอยู่รอบๆ ไปจนถึงด้านหลังท้ายทอยสะบัก อาการปวดแบบนี้ มักจะปวด 2 ข้าง ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ บริเวณ หัวคิ้ว ขมับ เป็นแถบ อาจไปที่ท้ายทอยสะบักได้ บางรายอาจปวดข้างเดียว ลักษณะการปวดมักปวดแบบบีบๆ หนักๆ ตึงๆ บางท่าน อาจมีความรู้สึกไม่โล่ง ไม่โปร่ง เหมือนศีรษะทึบๆ แต่ยังพอฝืนทำงาน เรียนหนังสือต่อไปได้ อาการอาจเป็นๆ หายๆ ได้ ปัจจัยส่งเสริมเช่น คุณภาพการนอนไม่ดี หลับไม่ลึก พักผ่อนน้อย ขาดการออกกำลังกาย ความเหนื่อยล้าจากงาน ความเครียดสะสม การใช้สายตาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานๆ

แนวทางแก้ไข ควรมีการพักสายตาทุก 2-3 ชั่วโมง แบ่งเวลา เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสันทนาการที่ผ่อนคลาย ช่วยคลายความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ อาจใช้ยาแก้ปวด ช่วยลดอาการในช่วงสั้นๆ ปรับการนอน


         กลุ่มที่พบบ่อยรองลงมาคือ ปวดแบบไมเกรน มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการปวดมักเป็นบริเวณรอบกระบอกตา ขมับ อาจร้าวไปด้านหลัง จะปวดข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ลักษณะการปวดแบบร้าวๆ ตุ๊บๆ มักจะมีคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย บางรายอาจมีตาพร่าๆ เห็นแสงระยิบระยับ ในผู้ป่วยหญิงบางรายอาจปวดมากช่วงใกล้ๆ รอบเดือน เซลล์ประสาทไวต่อสิ้งเร้า มีช่วงที่หลอดเลือดขยาย และหดตัว ปล่อยสารสื่อประสาท เกิดกระบวนการอักเสบร่วมด้วย มักจะไวต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เจอแดดแรง อากาศร้อน เสียงครึกโครม ทำให้ปวดมากขึ้น อาการมักจะเป็นๆ หายๆ ปัจจัยประตุ้นอื่นๆ เช่น นอนหลับไม่สนิท ความเครียด ยาคุมกำเนิดในบางราย อาหารบางชนิด เช่น ไวน์แดง ช็อกโกแลต เนย ชีส จึงควรเล่นกีฬา ออกกำลังกาย รับประทานอาหารตรงเวลา พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ หากมีอาการปวดมาก เป็นบ่อย ควรปรึกษาแพทย์ในการดูแลรักษาที่ถูกต้อง

         จะเห็นได้ว่า อาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อยๆ นั้น ไม่ได้มีสาเหตุที่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้รำคาญ รบกวนประสิทธิภาพการเรียน การทำงาน หากปฏิบัติตัวเหมาะสม สามารถช่วยลดอาการ และการใช้ยาลงได้ กรณีการปวดศีรษะที่รุนแรงต่างไปจากเดิม หรือเป็นบ่อยกว่าเดิม ปวดมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือในรายที่มีอาการปวดเฉียบพลันเป็นทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามี อาการอาเจียน มองเห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง ชา มีไข้สูง ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพื่อการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

 
     
  ขอบคุญข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท 3 โทร. 02-467-1111