อาการใจสั่น



อาการใจสั่น เป็นความรู้สึกของผู้ป่วย ต่อการเต้นของหัวใจ ซึ่งหัวใจอาจจะ เต้นปกติ หรือ ผิดปกติ ก็ได้ โดยทั่วไป คนมักไม่รู้สึกถึง การเต้นของหัวใจ แม้ในภาวะที่ หัวใจบีบตัวแรง และ เต้นในอัตราที่เร็วมาก ขณะออกกำลังกาย ตรงกันข้าม ในภาวะที่ปราศจากสิ่งกระตุ้นใดๆ คนบางคนอาจเกิด อาการใจสั่น เช่น ขณะจะเข้านอน ความรู้สึกถึงการเต้นของหัวใจ อาจทำให้บางคนสงสัยว่า หัวใจของตนเกิดความผิดปกติ ทั้งที่หัวใจไม่ได้เกิดความผิดปกติ หรือ เต้นผิดจังหวะแต่อย่างใด


อาการใจสั่น ที่อาจเกิดจากความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ หรือ โรคหัวใจ

  • อาการใจสั่น ร่วมกับอาการอื่น เช่น หน้ามืด เป็นลมหมดสติ เจ็บ แน่นหน้าอก หรือ เหนื่อยหอบกว่าปกติ อาจบ่งบอกถึงโรคหัวใจรุนแรงควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว

  • อาการใจสั่น ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยไม่สัมผัสกับการออกแรง และ สามารถหายได้เอง ผู้ป่วยมักแยกอาการแตกต่างกันขณะที่มี และ ไม่มีอาการใจสั่น

  • อาการใจสั่น ที่เกิดร่วมกับจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ

  • อาการใจสั่น ในผู้ป่วยที่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยที่เคยมี กล้ามเนื้อหัวใจตาย จากหลอดเลือดอุดตัน หัวใจโต ล้มเหลว หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด

  • อาการใจสั่น ในผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวใกล้ชิดเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะ การเสียชีวิตกะทันหัน ก่อนวัยอันควร

การตรวจวินิจฉัย

      ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติการตรวจร่างกาย การตรวจเอกซเรย์เงาปอด และ หัวใจ และ การ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อช่วยการวินิจฉัย หรือ นำไปสู่การส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมที่เหมาะสม ผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจมี หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แพทย์อาจส่งตรวจการเต้นของหัวใจด้วยการเดิน วิ่ง สายพานเลื่อน (Exercise Stress Test) ผู้ป่วยที่สงสัยว่าความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ลิ้นหัวใจตีบ หรือ รั่ว ผนังกั้นหัวใจรั่ว หรือโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ แพทย์จะส่งตรวจด้วย เครื่องตรวจเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography)

      ส่วนการวินิจฉัยว่ามีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ หลายครั้งที่ผู้ป่วยมาถึงแพทย์ อาการ และ การเต้นผิดจังหวะของหัวใจได้หายแล้ว การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่กี่วินาที อาจไม่พบความผิดปกติ ผู้ป่วยอาจมีส่วนช่วยในการวินิจฉัย โดยการจับชีพจร และ นับอัตราการเต้นของชีพจรในระยะเวลา 1 นาที และ สังเกตจังหวะของชีพจรว่าชีพจรเร็วกว่าปกติหรือไม่ ชีพจรสม่ำเสมอหรือเร็วช้าไม่สม่ำเสมอ

      ผู้ป่วยที่สงสัยว่ามี ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่เกิดอาการไม่บ่อย แพทย์อาจส่งตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง ที่สามารถพกพาติดตัว และ บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ได้ เช่น 24-48 ชั่วโมง (Ambulatory ECG monitoring หรือ Holter)


แนวทางการรักษา

      การรักษาขึ้นอยู่กับผลการตรวจว่า มีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ถ้ามีหัวใจเต้นผิดจังหวะ การที่หัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นเป็นชนิดใด และที่สำคัญมีสาเหตุจาก โรคหัวใจ หรือ ความผิดปกติของอวัยวะใด การรักษาที่สำคัญ คือ รักษาที่สาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว หากหลอดเลือดหัวใจตีบมาก อาจต้องได้รับการรักษาด้วยการ ขยายหลอดเลือดหัวใจ เช่น การทำบัลลูน หรือ การถ่างหลอดเลือด ด้วยขดลวด ภาวะหัวใจเต้นเร็วบ่อยครั้งที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ แต่เกิดจากความผิดปกติอื่นๆ เช่น ภาวะต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ ภาวะเลือดจาง ภาวะขาดน้ำ และ เกลือแร่ เช่น จากโรคท้องร่วง หรือ เสียเลือดมาก ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาแล้ว ภาวะหัวใจเต้นเร็วก็จะกลับสู่ปกติโดยไม่ต้องใช้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจให้การรักษาด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่

  1. ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drug) ซึ่งมักมีฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ทำให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยลง หรือ อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ซึ่งทำให้อาการใจสั่นลดลง แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถแก้ไขที่สาเหตุการรักษาด้วย ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ มักจะไม่ทำให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหายขาดได้

  2. การรักษาด้วยการใส่สายสวนเข้าทาง หลอดเลือดไปในหัวใจ เพื่อตรวจหาตำแหน่งที่ก่อ หรือ นำสัญญาณไฟฟ้าผิดปกติ (Electrophysiologic study) และใช้ จี้ทำลายจุด เล็กๆ ที่ผิดปกตินั้น ด้วยพลังงานรูปแบบต่างๆ (Catherter ablation) เช่น ไฟฟ้าความถี่สูง (Radiofrequency ablation) ซึ่งเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน 55-75 องศา หรือ ใช้ความเย็นจัด ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมาก (Cryoablation) ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถรักษา ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิด ให้หายขาดได้โดยไม่ต้องกินยาอีก หรือ ลดการใช้ยาลงได้มาก

  3. การ ใช้ไฟฟ้า กระแสตรงความต่างศักย์สูง ช็อกผ่านผิวหนังหน้าอกผ่านหัวใจ (Cardioversion, Defibrillation) สำหรับการแก้ไขหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด โดยเฉพาะ หัวใจเต้นผิดจังหวะที่เร็วมาก หรือ สั่นพลิ้วในภาวะฉุกเฉิน ที่หัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น ทำให้ ความดันเลือดลดลงอย่างมาก ตรวจจับ ความดัน และ ชีพจร ไม่ได้

  4. การ ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ให้จังหวะหัวใจ (Permanent cardiac pacemaker) สำหรับภาวะ หัวใจเต้นช้ามาก หรือ เครื่องกระตุกช็อกไฟฟ้าอัตโนมัติ ชนิดฝังในตัวผู้ป่วย (Automatic lmplantable Cardioverter Defibrillator ; AICD) สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง จากหัวใจห้องล่าง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หัวใจล้มเหลว เพื่อให้ได้รับการรักษากระตุกช็อกไฟฟ้าหัวใจในทันที (ภายในไม่กี่วินาที) หากเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงจากหัวใจห้องล่าง

ขอขอบคุญข้อมูลจาก  www.phyathai.com