ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)

 
   
   
 

      ไซนัส (sinus) หมายถึงโพรงอากาศเล็กๆ ในกะโหลกซึ่งอยู่รอบๆ จมูก และมีทางเชื่อมต่อกับโพรงจมูก ดังนั้นจึงอาจมีเชื้อโรคลุกลามจากโพรงจมูกเข้าไปในโพรงไซนัส

      ปกติทางเชื่อม ดังกล่าวจะเปิดโล่งให้มีการระบายของน้ำเมือก ที่สร้างขึ้นในโพรงไซนัสได้สะดวก จึงไม่อักเสบ
      แต่ถ้าหากทางเชื่อมดังกล่าวเกิดการอุดตันขึ้นมา เช่น เป็นหวัด ผนังกั้นจมูกคด ได้รับบาดเจ็บ หรือดำน้ำ น้ำเมือกในโพรงไซนัสไม่สามารถระบายได้ ก็จะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในโพรงไซนัสสามารถเจริญงอกงาม ทำให้อักเสบ และเป็นหนองขังภายในโพรงไซนัส

      เชื้อที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยๆ ได้แก่ เบตาสเตรปค็อกคัส, สแตฟฟีโลค็อกคัส, นิวโมค็อกคัส
นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการลุกลามของเชื้อโรคจากบริเวณ รากฟันที่เป็นหนองเข้าไปในโพรงไซนัสโดยตรงก็ได้

      ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย มักพบเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด หวัดจากการแพ้ เยื่อจมูกอักเสบ ผนังกั้นจมูกคด รากฟันเป็นหนอง


อาการ
      ปวดมึนๆ หนักๆ ตรงบริเวณหัวตา หน้าผากโหนกแก้ม หรือรอบๆ กระบอกตา บางคนอาจรู้สึกคล้ายปวดฟันบริเวณขากรรไกรบน อาการปวดอาจเป็นมากในเวลาเช้าหรือบ่าย เวลาก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก พูดเสียงขึ้นจมูก มีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียว เจ็บคอหรือมีเสลดสีเหลืองหรือเขียวในลำคอ และอาจหายใจมีกลิ่นเหม็น


สิ่งที่ตรวจพบ
เยื่อจมูกปวมแดง คอแดงเล็กน้อย บางคนอาจมีไข้ ที่สำคัญจะพบว่า ถ้าเคาะหรือกดแรงๆ ตรงบริเวณหัวตาหน้าผากหรือใต้ตาจะรู้สึกเจ็บ


อาการแทรกซ้อน
  • อาจทำให้เป็น หูชั้นกลางอักเสบ, หลอดลมอักเสบ
  • ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงแต่พบได้น้อย ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ฝีในสมอง



  • การรักษา
    1. ให้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน หรือ พาราเซตามอล
    2. ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน หรือ ไดเฟนไฮดรามีน อาจให้ยาร่วมกับยาแก้คัดจมูกผสมในเม็ดเดียวกัน เช่น ยาเม็ดแอกติเฟด หรือ เม็ดนีโอซิเนฟรีน
    3. ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี, แอมพิซิลลิน, อีริโทรมัยซิน, โคไตรม็อกซาโซล หรือ เตตราซัยคลิน
    ควรให้ยาสัก 7-10 วัน ถ้าดีขึ้นอาจต้องให้ยาต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ถ้าไม่ดีขึ้น ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล อาจต้องทำการเอกซเรย์ไซนัส ถ้ามีหนองขังอยู่ในไซนัส อาจต้องทำการเจาะออก ในรายที่เป็นมากอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด


    ข้อแนะนำ
    1. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง แต่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือแก้ไขสาเหตุ เช่น ผนังกั้นจมูกคด


    2. ไม่ควรรักษากันเองตามแบบพื้นบ้าน เช่น ใช้สารกรดบางอย่างหยอดจมูก (ทำให้มีน้ำมูกไหลออกมามาก เพราะเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อจมูก) อาจทำให้เกิดการอักเสบและจมูกพิการได้


    3. ระวังอย่าให้เป็นหวัดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้คัดจมูกหรือจาม เช่น ฝุ่น อากาศเย็น ขนสัตว์ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ


     
         
     

    ขอขอบคุญข้อมูลจาก โรงพยาบาล พญาไท