การใช้ยาในเด็ก

 
   
   
 

         การปฏิบัติในการป้อนยาเด็ก ต้องดูในเรื่องของขนาดที่ได้รับ ต้องเป็นไปตามวิธีใช้ที่ระบุมา การใช้ช้อนชาในเด็กบางคน อาจหกเลอะเทอะ ทำให้ควบคุมจำนวนยาที่ให้ยาก ก็อาจให้เป็น หลอดหยดยา หรือ กระบอกฉีดยา (ที่ไม่มีเข็มฉีดยา) ซึ่งมีขนาดที่แน่นอน และให้ง่ายกว่า แต่ขอให้ปฏิบัติ ดังนี้
  1. ให้แน่ใจว่า หลอดหยด หรือ กระบอกฉีดยา ล้างทำความสะอาดแล้วก่อนนำมาใช้


  2. ดูดยาให้ได้ตามขนาดที่ระบุในฉลาก


  3. ป้อนให้เด็ก อาจหยดยา หรือ ฉีดยาเข้าที่กระพุ้งแก้ม


  4. เมื่อจะป้อนยาชนิดอื่นต่อไป ให้นำหลอดนั้นล้าง โดยจุ่มล้างในน้ำสะอาดที่ใส่แก้วรอไว้ แล้วบีบล้าง 3-4 ครั้งก่อน


  5. ถ้าต้องป้อนเด็กพร้อมกันมากกว่า 1 คน ห้ามใช้หลอดหยดอันเดียวกัน เพราะจะทำให้ติดโรคกันได้

ยาที่ควรระวังเมื่อใช้ในเด็ก
  1. กลุ่มยาปฏิชีวนะ
    มักทำเป็นผงแห้ง ต้องผสมน้ำก่อนใช้ยา หากได้รับยาชนิดนี้หลายขวด ให้ผสมทีละขวด รับประทานยาตามฉลากติดต่อกันจนกว่ายาจะหมด ห้ามหยุดยาเองเป็นกันขาด แม้อาการดีขึ้นแล้วก็ตาม การใช้ยาไม่ครบขนาด อาจทำให้เชื้อโรคกลับมาเจริญได้อีก และยังทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาด้วย


  2. ยาลดไข้
    ควรเลือกใช้ยาชนิดที่ปลอดภัยแก่เด็ก ให้เด็กรับประทานยาทุกๆ 4-6 ชั่วโมง ถ้าอาการไข้ไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ ห้ามใช้ยาลดไข้ Aspirin (แอสไพริน) และ Ibuprofen (ไอบูโปรเฟน) ในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก หากยังไม่แน่ใจควรหลีกเลี่ยง นอกจากใช้ยาลดไข้แล้ว ควรเช็ดตัวเด็กด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดา โดยเช็ดตามข้อพับ ตามซอกต่างๆ และลำตัว จะช่วยระบายความร้อน และลดไข้ได้ดีขึ้น


  3. ยาแก้ไอ
    ไม่ควรนำยาน้ำแก้ไอสำหรับผู้ใหญ่มาใช้ในเด็ก เพราะยาจะกดศูนย์กลางการหายใจ อาจทำให้เด็กหยุดหายใจได้


  4. ยาแก้ท้องเสีย
    ไม่แนะนำให้ใช้ยาแก้ท้องเสียที่แรงๆ ในเด็กเล็ก เพราะยาอาจกดการหายใจได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กที่ท้องเสีย คือ การให้น้ำ และเกลือแร่ชดเชย เพราะเด็กมักจะขาดน้ำ และเสียชีวิตได้จากการท้องเสียมากๆ อาการขาดน้ำที่สังเกตได้คือ กระหม่อมบุ๋ม หายใขหอบ ตัวเย็น ควรรับนำส่งแพทย์โดยเร็ว

หลักการทั่วไป ในการให้ยาเด็ก
  1. ต้องเก็บยาในที่ที่เด็กหยิบไม่ถึง


  2. ต้องแน่ใจและพยายามให้เด็กกินยาจนครบ


  3. ควรจะเลือกยาที่มีรสดีพอสมควร


  4. ไม่ควรผสมยาลงในนมทั้งขวด เด็กอาจกินยาไม่ครบ และอาจทำให้เด็ก เบื่อนม และอาหาร


  5. ในขณะที่เด็กร้อง ไม่ควรกรอกยาใส่ปาก อาจทำให้เด็กสำลักได้


  6. เด็กโตที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป อาจให้ยาในขนาดเท่ากับผู้ใหญ่ แต่ต้องไม่มากกว่า


  7. ถ้าเด็กไปโรงเรียน ควรเอายาไปฝากครูด้วย ในกรณีที่ต้องการกินยาในเวลาที่อยู่โรงเรียน


  8. ถ้าเด็กไม่ให้ความร่วมมือในการกินยา ควรใช้วิธีชักชวนที่ถูกต้อง เช่น ชี้ถึงโทษของการไม่กินยา ความไม่ดีของโรคนั้น ไม่ควรใช้วิธีข่มขู่บังคับ


  9. ควรใช้ช้อนยาที่ได้มาตราฐาน เพื่อให้ได้ยาอย่างถูกขนาด คือ
    1 ช้อนชา = 5 ml (ซีซี) และ
    1 ช้อนโต๊ะ = 15 ml (ซีซี) หรือ 3 ช้อนชา
    (ช้อนที่ใช้รับประทานข้าว หรือ ชงกาแฟ จะไม่ได้มาตราฐานตามนี้)

 
 

ขอขอบคุญข้อมูลจาก  www.phyathai.com   โทร. 1772