คำแนะนำพิเศษในการใช้ยา

 
   
   
 

  1. รับประทานติดต่อกันทุกวันจนหมด

             เพื่อให้การรักษาได้ผลดี ยาบางประเภทต้องรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือตามแพทย์สั่ง แม้ว่าอาการจะทุเลาลง หรือไม่มีอาการแล้วก็ตาม ตัวอย่างเช่น ยาฆ่าเชื้อ อะม๊อกซี่ซิลีน, เตตร้าชัยคลิน หากรับประทานไม่ครบกำหนดระยะเวลา จะทำให้การรักษาไม่ได้ผล และอาจเกิดการดื้อยาได้ ยารักษาโรคเรื้อรังบางอย่างต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน หยุดเองไม่ได้ เช่น ยาจำพวกสเตียรอยด์ (เพรดนิโซโลน) ยารักษาความบกพร่องของร่างกาย เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, โรคกระดูกบางชนิด



  2. เฉพาะเวลามีอาการ

             ยาที่ใช้บรรเทาอาหารต่างๆ เช่น ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ แก้ท้องเสีย แพทย์อาจสั่งให้รับประทานเป็นช่วงๆ เช่น ทุก 4 ชั่วโมง เวลามีอาการ เมื่ออาการทุเลาลงจึงหยุดยาได้ ไม่จำเป็นต้องรับประทานต่อเนื่อง



  3. ก่อนอาหาร

             ควรรับประทานก่อนอาหาร 1/2-1ชั่วโมง อาหารอาจลดการดูดซึม หรือยับยั้งทำให้ยาบางชนิดออกฤทธิ์น้อยลง เช่น ยาปฏิชีวนะต่างๆ ยาบางอย่างต้องการให้ออกฤทธิ์ก่อนอาหารเพื่อผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ยาแก้อาเจียน หรือในกรณียาเบาหวานบางชนิดที่ต้องรับประทานก่อนอาหาร เพื่อให้การดูดซึม และการออกฤทธิ์มีความสัมพันธ์กับ การลดระดับน้ำตาลในเลือด



  4. หลังอาหาร

             โดยทั่วไปควรรับประทานหลังอาหาร 15-30 นาที ยกเว้น ยาที่ระบุให้รับประทานหลังอาหารทันที



  5. หลังอาหารทันที หรือ พร้อมอาหาร

             ยาบางชนิดทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะ อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้ การรับประทานหลังอาหารทันที หรือ พร้อมอาหาร เพื่อลดปัญหาดังกล่าว เช่น เพรดนิโซโลน แอสไพริน หรือในกรณียาเบาหวานบางชนิด รับประทานพร้อมอาหารเพื่อช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล



  6. ควรดื่มน้ำตามมากๆ

             ยาพวกซัลฟา ละลายน้ำได้น้อยมากอาจตกตะกอนในไต การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยเพิ่มการละลายได้ หรือยาถ่ายที่ทำให้เพิ่มกากอุจจาระ หรือที่ทำให้อุจจาระนิ่ม ควรดื่มน้ำตามมากๆ



  7. เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน

             ยาลดกรดชนิดเม็ด หรือยาบางชนิด ต้องเคี้ยวก่อนเพื่อให้ยากระจายตัวในกระเพาะอาหาร และออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น



  8. ห้ามรับประทานร่วมกับเหล้า หรือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

             ยาปฏิชีวนะบางชนิด, ยาลดน้ำตาลในเลือด, ยาระงับประสาท, ยานอนหลับ, ยาแก้ปวด หรือ ยากดประสาทต่างๆ ตลอดจนยาแก้แพ้ จะเสริมฤทธิ์กับแอลกอฮอล์ทำให้เกิดอันตรายได้



  9. ไม่ควรรับประทานยานี้ร่วมกับนม หรือยาลดกรด

             เพราะนมและยาลดกรดทำให้การดูดซึมยาบางชนิดลดลง จึงทำให้ผลการรักษาลดลงด้วย เช่น เตตร้าซัยคลิน, ยาบำรุงที่มีธาตุเหล็ก



  10. รับประทานยานี้แล้วอาจทำให้ง่วงซึม

             ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาแก้ปวดบางชนิดอาจมีผลข้างเคียง ทำให้ง่วงนอนหรือมึนงง ผู้ใช้ยาควรระวังในการขับรถ หรือใช้เครื่องจักรกล



  11. รับประทานยานี้แล้วปัสสาวะจะมีสีส้มแดง

             ยาพวก Phenazopyridine ทำให้ปัสสาวะเป็นสีแดง อาจเข้าใจผิดว่าเป็นเลือด แต่แท้จริงเป็นสีจากยา หรือยา Rifampicin ทำให้น้ำลาย น้ำตา ปัสสาวะ เป็นสีแดงส้ม



  12. เก็บไว้ในตู้เย็น

             โดยทั่วไปหมายถึง การเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส (แช่ในช่องธรรมดา ไม่ต้องใส่ในช่องน้ำแข็ง) หรือเก็บในกระติกน้ำแข็งตลอดเวลา เช่น ยาอินซูลิน วัคซีน หรือยาหยอดตาบางชนิด

 
 

ขอขอบคุญข้อมูลจาก  www.phyathai.com