มะเร็งเต้านม ศัตรูของสตรี

 
   
     
 

มะเร็งเต้านม โรคเฉพาะของสตรี ที่พบบ่อยเป็นอันดับสอง รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็ง ในสองตำแหน่งนี้เมื่อรวมกันแล้ว จะเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

ศ.นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคนี้เป็นโรคที่ทำลายชีวิตคุณแม่บ้าน และสาวใหญ่ปีหนึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย แต่อาจป้องกันได้ ถ้าหากท่านทั้งหลาย รู้จัก วิธีตรวจเต้านม ที่ถูกต้องด้วยตนเอง ผู้ที่คลำพบก้อนที่เต้านมของตนเองขนาดโต 1.5 ซม. ได้ และมาพบแพทย์ทันที แพทย์จะรักษาให้หายขาดได้ถึงร้อยละ 90 โดยมากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มาพบแพทย์ จะคลำพบก้อนด้วยตนเองแล้ว แต่อายจึงไม่กล้ามาพบแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ จึงน่าเสียดาย ที่มักจะได้รับการรักษาสายเกินไป



ศ.น.พ.วิศิษฏ์ กล่าวเตือนว่า อย่ารอจนมีอาการ เพราะนั่นแสดงว่าเป็นมากแล้ว สตรีอายุ 40 ปีขึ้นไป ถ้ามี ก้อนในเต้านม ควรจะสงสัยไว้ก่อน รีบไปปรึกษาแพทย์ด่วน เพราะมีวิธีการตรวจ ซึ่งจะทำให้ทราบผลได้แน่นอนแม่นยำ เช่น การตรวจเต้านมด้วยเครื่อง Mammogram เป็นต้น

การตรวจด้วยเครื่อง Mammogram นี้เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชำนาญในการตรวจคลำด้วยตนเอง หรือผู้ที่ตรวจคลำด้วยตนเองแล้วไม่พบ แต่รู้สึกว่ามีความผิดปกติบริเวณเต้านม หรือผู้ที่ต้องการความมั่นใจว่าตนเองไม่ได้เป็นมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอน เพราะเครื่องนี้มีคุณสมบัติพิเศษ ในการตรวจหาก้อนเนื้อผิดปกติ บริเวณเต้านมได้อย่างละเอียด แม้ก้อนเนื้อที่ผิดปกตินั้น จะมีขนาดเล็กมากก็ตาม

วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การตรวจเต้านมจะอาศัย การดู และการคลำ เป็นสำคัญ โดยเปรียบเทียบระหว่างเต้านม 2 ข้าง ถ้าข้างหนึ่งแตกต่างจากอีกข้างหนึ่ง ท่านต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ แค่นี้ก็สามารถตรวจพบ มะเร็งในระยะเริ่มแรกของเต้านม ได้ง่ายขึ้นด้วยตัวเอง

แต่อย่าเข้าใจผิดว่ามะเร็งของเต้านม จะทำให้เต้านมข้างนั้นใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่ง บางชนิดอาจทำให้เต้านมหด แข็งตัว เล็ก หรือแบนลงก็ได้

ผู้ป่วยหลายท่านมีความชำนาญมาก มาพบแพทย์ตั้งแต่คลำได้เป็นเม็ดในเต้านม ขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วก้อย ซึ่งบางครั้งแพทย์เอง ยังคลำไม่ได้ ต้องให้ผู้ป่วยช่วยชี้บอก บางท่านคลำพบเองขณะอาบน้ำ บางครั้งพบขณะทาแป้ง ถ้าท่านสละเวลาเพียงเล็กน้อย เพื่อการตรวจอย่างตั้งใจด้วยตนเอง เป็นประจำทุกเดือน ก็อาจพบการเปลี่ยนแปล ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จริงๆ ถ้าพบว่าเป็นมะเร็ง ก็จะได้ให้การรักษาให้หายขาดได้ทันท่วงที

ปกติเต้านมจะมีรูปร่างกลมรีรูปไข่ มีส่วนเล็กยื่นเอียงไปทางรักแร้ 2 ข้าง เรียกว่าส่วนหางของเต้านม โดยปกติเต้านมทั้ง 2 ข้างจะมีขนาดเท่ากัน มีส่วนนูน ส่วนโค้ง เหมือนกัน หัวนมก็อยู่ในระดับเดียวกัน ผิวหนังที่คลุมอยู่ก็มีสีสัน ความตึงเต่ง สภาพความยืดหยุ่น และการกระเพื่อมเหมือนกัน ซึ่งทุกท่านจะสังเกตลักษณะประจำได้ เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะสังเกตเห็นทันที เช่น บางส่วนของเต้านมนูนขึ้นมากกว่าอีกข้างหนึ่ง

มะเร็งเต้านม ส่วนมากจะพบที่ส่วนบนด้านนอกของเต้านมบ่อยกว่าส่วนอื่น จึงควรสังเกตบริเวณนี้ให้ถี่ถ้วนพิเศษ ถ้ามีการนูนเต่งขึ้นมาผิดปกติ ก็อาจแสดงว่ามีก้อนอยู่ภายใน ตรงข้ามกับรอยนูนก็คือ รอยบุ๋มเข้าไป มักเห็นได้บ่อยในส่วนนอก และส่วนล่างของเต้านม

อีกท่าหนึ่งซึ่งจะช่วยในการตรวจด้วยตนเองได้ คือ นั่งเอนตัวมาข้างหน้าให้เต้านมห้อยลง ให้สังเกตว่ามีการเหนี่ยวรั้งเป็นรอยบุ๋มหรือไม่ หรือมีการถ่วงนูนสูงต่ำกว่า เพราะมีก้อนนูนภายในเต้านมข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่

นอกจากการตรวจด้วยการดู ทั้งโดยการดูตรงๆ และอาศัยดูภาพสะท้อนในกระจกเงาแล้ว เพื่อความแน่นอนยิ่งขึ้น ควรตรวจโดยการคลำด้วยตนเอง ประกอบกันด้วย

วิธีการตรวจด้วยมือแบบง่ายๆ
การตรวจเต้านมด้วยตนเองแบบง่ายๆ มี 2 วิธีคือ การตรวจแบบวนเป็นวง และการตรวจแบบแบ่งเป็นตาราง สามารถใช้วิธีใดก็ได้ตามสะดวก

  1. การตรวจแบบวนเป็นวง ( Spiral method ) เริ่มตรวจจากด้านบนของเต้านม โดยมือวนเป็นวงใหญ่ไปให้ทั่วรอบๆ เต้านม เพื่อตรวจดูว่า มีก้อนผิดปกติ หรือเนื้อแข็งๆ หรือไม่ จากนั้นวนมือให้เป็นวงเล็กลงไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 3 วง จนถึงหัวนม ทำเช่นนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกลูบเบาๆ และอีกครั้งกดให้แรงขึ้น
  2. การตรวจแบบแบ่งเป็นตาราง ( Grid method ) เป็นการตรวจเต้านม โดยแบ่งพื้นที่จากบริเวณกระดูกไหปลาร้าไปยังส่วนใต้เต้านม และจากรักแร้ไปยังกระดูกอก เป็นช่องตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในแต่ละช่องนั้นให้ใช้มือวนเป็นวงแบบก้นหอย โดยลูบเบาๆ ก่อน และกดให้แรงขึ้นอีกครั้ง เลื่อนมือทำเช่นเดิมในช่องถัดไป ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตรวจทั่วเต้านม
สัญญาณอันตราย 7 ประการของโรคมะเร็ง
  1. แผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลในปากที่หายช้า
  2. มีเลือด หรือสิ่งผิดปกติ ไหลออกจากทวารหนึ่งทวารใดของร่างกาย
  3. ก้อนที่ไม่เจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก้อนในเต้านม ในปาก หรือบริเวณต่อมน้ำเหลืองทั่วไป
  4. รู้สึกเจ็บคอคล้ายก้างติดคอ หรือเสียงแหบไป หรือไอบ่อยๆ
  5. อาหารไม่ย่อย ท้องอืด น้ำหนักตัวลด หรือกลืนลำบาก
  6. มีการเปลี่ยนแปลง ในการถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะผิดปกติ
  7. หูด หรือไฝโตขึ้น หรือเปลี่ยนสีผิดปกติ
ทางที่ดีที่สุดเมื่อตรวจพบความผิดปกติ อย่าปล่อยทิ้งไว้ควรให้แพทย์ตรวจดู เพื่อความแน่ใจ ซึ่งจะสามารถรักษาได้ทันท่วงที

เครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram)
เครื่องเอกซเรย์เต้านม มีคุณสมบัติในการตรวจหามะเร็งเต้านม หรือสิ่งผิดปกติที่เกิดกับเต้านม โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ซึ่งไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยตนเอง หรือโดยวิธีอื่น เครื่องนี้จะแสดงรายละเอียดต่างๆ ได้ชัดเจน แม้ว่าสิ่งผิดปกตินั้น จะมีขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุดก็ตาม

การเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่อง Mammogram เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะตรวจหามะเร็ง หรือ เนื้อร้ายได้ผลดีที่สุด
ในกรณีทำ Mammogram แล้วพบความผิดปกติ จำเป็นต้องทำการวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยเครื่อง Ultrasound ต่อไป

 
     
  ขอบคุณภาพ และข้อมูลจาก  
 


« กลับหน้าหลัก สุขภาพถ้วนหน้า «