เซลล์สมองกระจกเงา

 
   
     
 

เคยสังเกตไหมครับว่า เวลาที่เราเห็นเพื่อนที่อยู่ข้างๆ นั่งไขว่ห้าง หรือกอดอก แล้วทำไมเราถึงมีแนวโน้มทำตาม มันเป็น พฤติกรรม ที่เกิดการ เลียนแบบ โดยไม่รู้ตัว หรือเป็นพฤติกรรมติดต่อ แม้แต่พฤติกรรมของเด็กอนุบาล ที่ชอบทำท่าเลียนแบบ อุลตราแมน ไรเดอร์ ที่เขาเห็นจากทีวี หรือวิดีโอซีดี พฤติกรรมเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าในสังคมมนุษย์ มีการพยายามเลียนแบบ เพื่อเหตุผลบางอย่าง ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งนั่นคือที่มา ของการค้นหาความจริง กับ “ทฤษฏีเซลล์กระจกเงา” ที่สามารถนำไปใช้พัฒนา พฤติกรรมของเด็กๆ รวมไปถึงการแก้ไขอาการ อัมพาตครึ่งซีก และบำบัดอาการ ออทิสติก

อะไรคือเซลล์กระจกเงา

เมื่อไม่นานนี้ นักวิทยาศาสตร์ในอิตาลี (Giacomo Rizzolatti and Laila Craighero) ซึ่งทำงานอยู่ มหาวิทยาลัยปาร์มา ในประเทศอิตาลี ได้ศึกษาวิจัยเรื่องของ เซลล์สมองกระจกเงา (The Mirror-Neuron System) ลงเผยแพร่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ค้นพบว่าในสมองของมนุษย์เรานั้น มีเซลล์ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “Mirror Neuron” หรือ “เซลล์สมองกระจกเงา” ซึ่งเป็นเซลล์ที่สามารถตอบสนอง ต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ของมนุษย์ เช่นการตอบสนองต่อการมองเห็น การได้ยิน การได้เห็นภาพ และการได้กลิ่น ตัวกระตุ้นที่เรารับผ่านประสาทสัมผัส เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด รวมถึงมนุษย์ โดยเฉพาะผ่านการกระทำของผู้อื่น ถ้าเราต้องการที่จะอยู่รอด เราต้องเข้าใจการกระทำของคนอื่น ถ้าปราศจากสิ่งนี้ ก็ไม่มีสังคมมนุษย์ มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น คือสามารถเรียนรู้จากการสังเกต และเลียนแบบผู้อื่น ซึ่งเราสามารถอธิบายจาก ทฤษฏีเซลล์กระจกเงา

การศึกษาวิจัยครั้งแรก ได้ทำการศึกษาในลิง ต่อไปจึงทำการศึกษาในคน ได้ข้อสรุปความสัมพันธ์ระหว่าง เซลล์กระจกเงา และภาษา จากการทดลองในลิง พบว่าเซลล์สมองเฉพาะบางส่วน จะถูกกระตุ้นเมื่อลิงใช้มือเคลื่อนไหว เช่นหยิบจับสิ่งของ และเซลล์ก็ถูกกระตุ้นเช่นเดียวกัน เมื่อมันเห็นลิงตัวอื่นใช้มือเคลื่อนไหวแบบเดียวกัน

สมมุติฐานนี้ เรียกเซลล์เหล่านี้ว่า เซลล์กระจกเงา (mirror neurons) นั่นคือ มันสะท้อนการเคลื่อนไหว และการทำงานของคนอื่น นักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันกลไก ของเซลล์กระจกเงาแบบเดียวกันในมนุษย์ โดยมีการใช้เครื่องตรวจสนามแม่เหล็ก หรือที่เรียกกันว่า MRI. เพื่อศึกษาตำแหน่งของสมอง ที่ถูกกระตุ้นเมื่อได้สังเกตเห็น การเคลื่อนไหวของผู้อื่นเช่น ปาก มือ เท้า ก็พบว่าบริเวณของสมอง ที่เรียกว่า พรีมอเตอร์ คอร์เทค (premotor cortex) จะถูกกระตุ้นตามตำแหน่งของกล้ามเนื้อนั้น การพบครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัว ในการค้นคว้าวิจัยบทบาทของเซลล์ชนิดนี้ ทั้งในแวดวงวิทยาศาสตร์ การแพทย์ จิตวิทยา และสังคมวิทยา เป็นอย่างมากครับ รวมทั้งส่งผลให้เกิดความรู้รุ่นใหม่ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ การพัฒนาตนเองของมนุษย์ อย่างมากมาย ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา ในระยะเริ่มแรก ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่อง การพัฒนาเด็ก เพราะสมองของเด็กนั้น มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้เด็กเห็น และทำให้เด็กเกิดการลอกเลียนแบบ นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ ในการนำมาใช้ในการ ขัดเกลาคนในสังคม ขณะเดียวกันการพยายามที่จะ ปรับตัวเองให้เข้ากับผู้อื่น ยังมีส่วนนำมาพัฒนาควบคู่กับการ เข้าถึงภาวะจิตใจของผู้อื่นอีกด้วย กลายเป็นจุดเริ่มต้น ของบุคลิกภาพของมนุษย์

นอกเหนือจากการนำไปใช้พัฒนาเด็กแล้ว ในปัจจุบันทฤษฎีเซลล์กระจกเงา ยังถูกนำไปใช้ในการบำบัดรักษาโรค ได้อีกด้วย เช่น อัมพาตครึ่งซีก และ โรคออทิสติก มีการนำทฤษฏีเซลล์กระจกเงา มาใช้ในการฟื้นฟู ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต โดยทำควบคู่ไปกับการฝึกกายภาพบำบัด ซึ่งแนวทางในการใช้ก็คือ พยายามควบคุมบริเวณที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ของกล้ามเนื้อให้เกิดการเคลื่อนไหวขึ้น จากการเลียนแบบ หรือเกิดจากการจินตนาการ

การสื่อสารที่ผิดธรรมชาติ

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเซลล์สมอง กระจกเงาอาจนำมาใช้อธิบายว่า ทำไมเด็กเล็ก 1-2 ขวบ ที่ดูทีวี วิดีโอซีดี มากๆ เช่น 8 ชั่วโมง/วัน จึงมีผลต่อ พัฒนาการทางภาษา และสังคม พูดช้า มีภาษาแปลกๆ ไม่ค่อยทำตามสั่ง เป็นไปได้ หรือไม่ครับว่า เซลล์กระจกเงาในสมอง ถูกกระตุ้นจากการเคลื่อนไหว หรือการสื่อสารที่ผิดธรรมชาติ เช่นการเคลื่อนไหวของตัวการ์ตูน หรือหุ่น ร่วมกับถูกกระตุ้น ด้วยการสื่อสารทางเดียว คือไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนเข้าไปในสมองเด็ก และแสดงออกมาในลักษณะเดียวกัน เรื่องที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เด็กป่า (Farewell child) คือเด็กเล็ก ที่พลัดหลงเข้าไปใช้ชีวิตกับฝูงสัตว์ในป่า เช่น ลิง สุนัขป่า ในหลายๆ ประเทศ มักจะพบเหมือนกันว่า เมื่อเด็กได้รับการช่วยเหลือ ออกมาภายหลัง เด็กกลุ่มนี้มักจะพูดไม่ได้ มีพัฒนาการทางภาษา และสังคมล่าช้า ส่งเสียงร้อง และมีท่าทางคล้ายสัตว์ป่า ที่เด็กได้เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ด้วย เป็นไปได้หรือไม่ว่า เซลล์สมองกระจกเงาของเด็กเหล่านี้ ถูกกระตุ้นด้วยการสื่อสาร และพฤติกรรมของสัตว์ป่า ภาพ และพฤติกรรมของสัตว์ป่าเหล่านี้ ก็สะท้อนเข้าไปในสมอง และเด็กก็แสดงออกมา ในลักษณะเดียวกัน จนเกิดเป็นความผิดปกติขึ้นนั่นเองครับ

พ่อแม่คือกระจกเงาของลูก

นอกจากนี้อาจนำใช้สำหรับ การอบรมเลี้ยงดูลูก ดังที่ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เคยกล่าวไว้ว่า "พ่อแม่คือกระจกเงาของลูก" ถ้าพ่อแม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ โกรธง่าย หงุดหงิดง่าย ไม่มีเหตุผล ภาพหล่านี้ ก็สะท้อนเข้าไปในสมองลูก และแสดงออกมาในลักษณะเดียวกัน และอาจใช้อธิบายว่า ครูมีความสำคัญมากเพียงไร ต่อสังคม และระบบการศึกษา เพราะครู คือ กระจกเงาการเรียนรู้ และการสอนของลูกหลานที่เรารัก ถ้าครูเป็นคนใฝ่รู้ ชอบที่เรียนรู้อย่างมีความสุข และรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ชอบค้นคว้า ชอบอ่านหนังสือ ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนเข้าไปในสมองเด็ก แต่ครูมีลักษณะตรงกันข้าม ไม่มีจิตวิญญาณครู ไม่มีเหตุผล ประพฤติตนไม่เหมาะสม ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนเข้าไปในสมองเด็ก และแสดงออกมาในลักษณะเดียวกัน

ดังนั้น เรามาช่วยกันให้ลูกหลานของเรา ให้ได้รับแต่ภาพสะท้อนที่ดีๆ กันเถอะครับ

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ www.bangkokhospital.com www.bangkokhealth.com

 
     
  ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก  
 


« กลับหน้าหลัก สุขภาพถ้วนหน้า «